มหาบัณฑิตชีววิทยา วัย 73 ปี เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากรามคำแหง: ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
วันที่ 6-8 มีนาคม พ.ศ. 2567 มหาวิทยาลัยรามคำแหงจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2564-2565 นายสุรพล ชุณหบัณฑิต นักวิจัยวัย 73 ปี ที่เกษียณราชการจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชีววิทยาในครั้งนี้ด้วย
คุณสุรพล เป็นนักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจแสวงหาความรู้ใหม่ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงินของประเทศไทย จึงได้เข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาโทที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่ทุกคน ทุกวัย ในสังคมมามากกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม
รศ. ดร. ธรรมศักดิ์ ยีมิน ประธานกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ กล่าวว่า คุณสุรพล ชุณหบัณทิต เข้ามาศึกษาในหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาชีววิทยา โดยทำวิจัยในหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่อง “การทดลองเพาะเลี้ยงไส้เดือนทะเล Perinereis aibuhitensis Grube,1878 ปลอดเชื้อเพื่อเป็นอาหารสำหรับพ่อแม่พันธุ์กุ้งทะเล”
ซึ่งผลงานวิจัยนี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาทางทะเล และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue economy) ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
รศ. ดร. มาฆมาส สุทธาชีพ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา กล่าวว่าภาควิชามีหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่มุ่งเน้นให้การศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับทุกคนในสังคม โดยทุกหลักสูตรมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ในด้านชีววิทยาและการประยุกต์ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล สัตว์ทะเลหน้าดินขนาดเล็ก ไลเคนวิทยา อนุกรมวิธานและซิสเทมาติคส์ของพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ฯลฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตให้สังคมไทยมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม
ปัจจุบัน คุณสุรพล ชุณหบัณฑิต เป็นที่ปรึกษาด้านการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงไส้เดือนทะเลปลอดเชื้อ ให้กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม อิหร่าน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ คุณสุรพล จึงเป็นตัวอย่างที่น่ายกย่องของนักวิจัยที่ยังคงพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ และเป็นต้นแบบนักวิจัยในสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และเป็นการยืนยันบทบาทของมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่มีความเสมอภาคทางการศึกษา และสร้างกำลังคนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
0 Comments