Header Ads Widget

Header ADS

หลักบวร, อ่านออกเขียนได้ และผู้นำทางวิชาการ คือกุญแจความสำเร็จ ของโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่

 หลักบวร, อ่านออกเขียนได้ และผู้นำทางวิชาการ คือกุญแจความสำเร็จ ของโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่

เป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ที่ทางโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ซึ่งจัดทำโดยมูลนิธิเอเชีย และเหล่าพันธมิตร ได้ร่วมกันค้นหาโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการเป็นผู้นำทางวิชาการ ได้รับการสนับสนุนให้มีการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ จากทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดพลังบวกในสังคม และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ 1)การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน), 2)ทักษะการอ่านออกเขียนได้ และ 3)ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม

ดร.รัตนา แซ่เล้า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและวิจัย มูลนิธิเอเชีย ได้กล่าวว่า “โครงการโรงเรียนดีมีทุกที่เป็นการนำเสนอโรงเรียนต้นแบบที่มีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น สร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมได้แม้ว่าจะอยู่ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ด้วยมุ่งหวังให้เกิดแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาไทยในทุกมิติ โดยตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำโครงการฯ ใน 18 โรงเรียน จาก 7 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ลำพูน, กาญจนบุรี, ระยอง, มหาสารคาม และเชียงราย สามารถสรุปถอดบทเรียนได้ 3 ข้อ ที่เป็นปัจจัยทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จคือ 1) การใช้หลักบวร (บ้านวัดโรงเรียน) หรือชุมชนเข้มแข็งมาผสานสัมพันธ์ในการพัฒนาเด็ก เกิดเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาทั้งในด้านวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต ได้แก่ 1.1) รร.วัดทุ่งลาดหญ้า “ลาดหญ้าวิทยา” อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งมีพระครูสิทธิกิจจานุวัตร เป็นผู้ทำนุบำรุงการศึกษาให้เป็นรากฐานของชุมชน ภายใต้ความร่วมมือของบ้าน ซึ่งมีผู้ปกครองและผู้นำชุมชนช่วยกันส่งเสริมพัฒนา และโรงเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนให้ความรู้นักเรียน 1.2) รร.บ้านห้วยต้มชัยยะวงศาอุปถัมภ์ อ.ลี้ จ.ลำพูน ที่ก่อสร้างขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ได้รับการศึกษา เปิดสอนเป็นทั้งโรงเรียนปริยัติธรรมและฆราวาส เมื่อมีกิจกรรมต่างๆ ทางวัดก็จะให้ความร่วมมือสนับสนุน ส่งพระภิกษุไปให้ความรู้นักเรียน มีการสอนคุณธรรมควบคู่กับความรู้ทั่วไป ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

2) ทักษะการอ่านออกเขียนได้ เป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ในวิชาต่างๆ อย่างมีคุณภาพ และสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ 2.1) รร.ฤทธิยะวรรณาลัย (ประถม) เขตสายไหม กทม. ซึ่งได้มีการส่งเสริมเรื่องการอ่าน เพราะในปัจจุบันเด็กสามารถหาความรู้ได้จากอินเทอร์เนต โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ชั้น ป.1 เมื่อโตขึ้นชั้น ป.2-ป.6 ก็จะเพิ่มเป็นอ่านคล่องเขียนคล่อง, การอ่านรู้เรื่อง, สามารถอ่านและจับหรือสรุปใจความได้ มีการทดสอบตลอดปี รวมถึงมีการจัดทำโครงการรักการอ่าน และ กิจกรรมโลกนิทาน, สำนวนชวนอ่าน, สนามหญ้าชวนอ่าน เป็นต้น 2.2) รร.บ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนตั้งอยู่บนดอยสูง มีนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แบบ 100% รูปแบบการศึกษาเป็นแบบพหุวัฒนธรรม เรียนควบคู่กันไปแบบ 2 ภาษาคือภาษาถิ่นและภาษาไทย เพิ่มเติมด้วยภาษาอังกฤษและจีน โดยมีคุณครูชาติพันธุ์บางส่วนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้สอน นอกจากนี้ยังมีโครงการพี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน ซึ่งในปัจจุบันนักเรียนสามารถฟังพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี

3) ผู้นำทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม เป็นผู้ขับเคลื่อนหรือคอยผลักดัน ในการส่งเสริมศักยภาพความสามารถ ของเด็กในด้านการศึกษาและอื่นๆ ได้แก่ 3.1) รร.สารคามพิทยาคม อ.เมือง จ.มหาสารคาม เป็นโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งมีผู้นำทางวิชาการที่เข้มแข็ง ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้นักเรียนได้รู้จัก ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ได้แนะนำให้นักเรียนเข้าไปใช้บริการที่เว็บไซต์ www.thailandlearning.org ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จากทั่วโลก ที่สามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 3.2) รร.วัดถนนกะเพรา อ.แกลง จ.ระยอง เป็นโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาปี 2562 ที่ได้นำความอิสระในการสร้างหลักสูตรมาเปิดโอกาสให้ตัวเอง มีจุดเน้นในการจัดการศึกษาว่าโรงเรียนสร้างสรรค์ นวัตกรน้อยสู่สากล มุ่งหวังจะให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักต่อยอดอาชีพในชุมชน   

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้น ถือเป็นผลที่ได้รับจากการจัดทำโครงการโรงเรียนดีมีทุกที่ ในตลอดระยะ เวลาที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะมีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน หรือต่อยอดให้กับนัก วิชาการ, ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต่างๆ โดยผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Facebook : โรงเรียนดีมีทุกที่ หรือสอบถามที่โทรศัพท์ 062-7341267 


*****************


Post a Comment

0 Comments

News Update !!!

 หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจ ให้โรงเรียนได้ออกแบบและมีส่วนร่วม