Header Ads Widget

Header ADS

มาชม ! ผลงานนักวิจัยไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก พบ “ทูตวิจัย” ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษณ์ธนากิจ ที่งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566”

รอชม ! ผลงานนักวิจัยไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก พร้อมเปิดตัว “ทูตวิจัย” ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษณ์ธนากิจ ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566”
     กลับมาอีกครั้ง! กับเวทีนำเสนอผลงานวิจัยไทยระดับชาติ “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” ที่ วช. ร่วมกับ เครือข่ายระบบวิจัยทั่วประเทศจัดขึ้นเป็นปีที่ 18 พร้อมโชว์ผลงานวิจัยที่โดดเด่นแห่งปี กว่า 1,000 ผลงาน จัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ กลางใจเมือง หวังเป็นเวทีเชื่อมโยงงานวิจัยให้ก้าวไกล และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
          สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกาศความพร้อมจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 ( Thailand Research Expo 2023 )” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “ วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน” 
ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง  ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ในบทบาทของการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  จึงได้จัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ” หรือ  “ Thailand Research Expo 2023 ”  ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นปีที่ 18 เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ และกระจายโอกาสในการเข้าถึงฐานข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม  ซึ่งมีการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ    โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยกว่า 1,000   ผลงาน  จากเครือข่ายวิจัย ฯ กว่า 140 หน่วยงาน 
“ความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และทุกภาคส่วน ในครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาการผ่านผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สามารถเชื่อมโยง การบูรณาการองค์ความรู้สู่การใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ให้เกิดกลไกในการพัฒนาส่งเสริมการถ่ายทอดจากผู้พัฒนางานวิจัย สู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง  การจัดงานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นกลไกความร่วมมือที่มีความเข้มแข็งของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อก้าวสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์”
 สำหรับกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิศวกรสังคมและนวัตกรสังคม เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน” โดยพลเอกดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ องคมนตรี  “แก่นการพัฒนาประเทศบนพื้นฐาน SEP for SDGs” โดย ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  และ “ บทบาทของการวิจัยและนวัตกรรมต่อขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศไทย”  โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว.   นอกจากนี้ยังมีการประชุมสัมมนา กว่า 100 หัวข้อ  ที่มีประเด็นที่น่าสนใจทั้งเรื่องของการบริหารจัดการงานวิจัย ที่ครบถ้วนรอบด้าน 
พลาดไม่ได้ คือ นิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่องานวิจัยไทย   และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย  ซึ่งมีการนำเสนอผลงานภายใต้ 6 Theme สำคัญ กว่า 1,000 ผลงาน อาทิ  หุ่นยนต์ล้างแผงโซล่าร์เซลล์ เปลี่ยนขยะเป็นกราฟินมูลค่าสูง โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เครื่องวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจพร้อมการตอบสนองด้วยเสียง  การใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ และนวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงสำหรับบำบัดน้ำในระบบเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
ปีนี้ วช.ได้เปิดตัว “นายพิพัฒน์  อภิรักษ์ธนากร”  ทูตวิจัยมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566  ซึ่งจะเป็นตัวแทนพลังคนรุ่นใหม่ในการสื่อสารงานวิจัยให้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับ งานวิจัย ว่า ในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหลายด้านที่ส่งผลกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มนุษย์ได้ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ของโลกมากขึ้น การได้รับการแต่งตั้งให้ได้รับตำแหน่ง “ทูตวิจัย”ประจำปี 2566  นี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ความคิดเห็นส่วนตัวของผมมองว่า โลกของเรามีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีงานวิจัยเกิดขึ้นใหม่อย่างมากมายและครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตดียิ่งขึ้นอย่างสอดคล้องกับความก้าวหน้าและพัฒนาของโลกจึงอยากเชิญชวนให้ทุกท่าน ได้มาชมผลงานวิจัยของคนไทยที่จะถูกนำมาจัดแสดงภายในงานงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” หรือ “Thailand Research Expo 2023” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th

Post a Comment

0 Comments

News Update !!!

 หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจ ให้โรงเรียนได้ออกแบบและมีส่วนร่วม