พม. จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ประเทศไทย ภายใต้แนวคิด ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง
วันนี้ (3 ต.ค. 65) เวลา 10.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดงาน วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ประเทศไทย (World Habitat Day 2022-Thailand) ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใครและที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No place Behind) ภายในงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” โดยมี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวรายงาน และ Mr. Srinivasa Popuri, Senior Human Settlement Officer, Regional Office for Asia and the Pacific ผู้แทน UN HABITAT ประจำประเทศไทย อ่านสาส์นวันที่อยู่อาศัยโลก พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ เป็นประธานในพิธีมอบโล่และเกียรติบัตรเพื่อประกาศเกียรติคุณให้แก่หน่วยงานและบุคคลที่ให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย และร่วมเวทีเสวนา การพัฒนาที่อยู่อาศัย “เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคุณภาพชีวิต สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ทั้งนี้ มีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้แทนชุมชน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวง พม. สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ
นายอนุกูล กล่าวว่า ด้วย โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) เป็นโครงการของสหประชาชาติที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมในทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) สำหรับ ปี 2565 ตรงกับวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม อีกทั้งตรงกับวันครบรอบ 20 ปี การสถาปนากระทรวง พม. ทั้งนี้ กระทรวง พม. โดยการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2565 ประเทศไทย” (World Habitat Day 2022 - Thailand) ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจช่องว่าง ไม่ทิ้งใคร และที่ใดไว้ข้างหลัง” (Mind the Gap. Leave No One and No Place Behind) ภายในงาน “20 ปี พม. เสริมพลัง สร้างโอกาส พัฒนาคนทุกช่วงวัย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองและรณรงค์การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง อีกทั้งเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของชุมชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน ด้วยการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับเมือง ตำบล ภูมินิเวศ นอกจากนี้ เป็นโอกาสในการทบทวนขบวนการ สรุปบทเรียน สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมองทิศทางและวางแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อชุมชนในอนาคต
นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ซึ่งการขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ได้มุ่งเน้นความสำคัญของกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยทั้งในระยะสั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว 20 ปี อันจะนำไปสู่เป้าหมายที่ให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับกระทรวง พม. ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 – 2579 ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและมีสภาพแวดล้อมที่ดี การสร้างโอกาสในการเข้าถึงระบบการเงินและสินเชื่อเพื่อการอยู่อาศัย และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับเพื่อนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองทั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 11 ของสหประชาชาติ และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda) ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับทุกคน
นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส ในภาพรวมของประเทศ ผ่าน 2 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย 1) กคช. รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง จำนวน 2.27 ล้านครัวเรือน โดยในช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กคช. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 367,000 หน่วย และดำเนินการต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 (ฉบับปรับปรุงปี 2565) โดยมีโครงการสำคัญมากมาย ได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชา โครงการบ้านเคหะสุขเกษม โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (TOD) และโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น และ 2) พอช. รับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส จำนวน 1.05 ล้านครัวเรือน โดยตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนผุ้มีรายได้น้อยที่ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย จำนวนกว่า 240,000 ครัวเรือน ภายใต้โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการบ้านมั่นคง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง โครงการบ้านพอเพียง และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน เป็นต้น
0 Comments