ดึง AI สร้างแอปฯ Foundue สู้คอร์รัปชั่น - ประกาศเจตนารมณ์ร่วมภาคีเครือข่ายต้านโกง!
“อลงกรณ์ พลบุตร” ประกาศนำ สถาบัน FKII Thailand ร่วมองค์กรภาคีต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น สร้าง “เครือข่ายใยแมงมุม” สกัดและขจัดกลโกงเงินภาษีประชาชน ดึงเทคโนโลยี AI “Corruption Foundue” มาช่วยสร้างแนวร่วม พร้อมสร้างช่องทางตรวจสอบข้อมูลที่โปร่งใส หวังให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมทั้งแจ้งเบาะแส ตรวจสอบ และขยายผล หวังลดปัญหาฉ้อฉลงบประมาณแผ่นดิน
วันนี้ (28 พ.ค.2568) เวลา 10.30 น. ณ TVA Hall สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ, นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบัน FKII Thailand พร้อมด้วย เครือข่ายพันธมิตร อาทิ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ, นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), ดร.มานะ นิมิตมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รรัปชั่น (ประเทศไทย), ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผช.ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), นายชยดิษฐ์ หุตานุวัชร์ ประธานสถาบันทิวาและ ผอ.สถาบัน FKII Thailand, ดร. พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เลขาธิการภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ, ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), ดร.โรจนศักดิ์ แสงธศิริวิไล นายกสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนานาชาติ, นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ ประธานมูลนิธิยุวไทยสากล และนายกสมาคมธุรกิจค้าไม้ และนายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์ม ฟ้องดู (Corruption Foundue)
นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายหัวข้อ “คอร์รัปชั่นเทคโนโลยี คอร์รัปชั่นฟ้องดู โครงการใยแมงมุมต้านโกง” ว่า การรวมตัวของภาคีเครือข่ายฯครั้งนี้ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยยึดโยงกับวันแรก (28 พ.ค.) ที่สภาผู้แทนราษฎร กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในวาระแรก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปีที่รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล และต้องกู้ยืมเงินมากกว่า 9 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ ทั้งยังถือเป็นการกลัดกระดุมเม็ดแรกในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในแวดวงราชการ ซึ่งสถาบัน FKII Thailand มองเห็นช่องโหว่ใหญ่ที่เป็นปัญหาของประเทศจากพฤติกรรมดังกล่าว
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้อง ในยุคของรัฐบาลที่มีอำนาจมากที่สุดยุคหนึ่ง จนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีรวมเกือบ 20 คดี แต่ในที่สุดศาลท่านก็ได้ตัดสินให้ผมชนะในทุกคดี แม้จะไม่สามารถเอาผิดคนโกงได้ทุกคดี แต่ก็ทำให้อดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งและเลขานุการของรัฐมนตรีท่านนั้น ถูกจำคุกฐานฉ้อโกงเงินภาษีของประชาชนได้ ซึ่งบทเรียนจากการทำหน้าที่ประธานตรวจสอบการการทุจริตคอร์รัปชั่นในครั้งนั้น ก็น่าจะเป็นบทเรียนและเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่นับจากนี้ไป” ประธานสถาบัน FKII Thailand และย้ำว่า...
จำเป็นอย่างที่พวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาคีเครือข่ายฯ หรือภาคประชาชน จะต้องกล้าเดินไปด้วยกัน เพื่อต่อต้านและขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และร่วมกันสร้างแสงสว่างแห่งความดีงาม เพื่อป้องกันความดำมืดของการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดลงไปจากประเทศไทย
สำหรับการบรรยายในหัวข้อ “คอร์รัปชั่น ปัญหาวิกฤติชาติ กับแนวทางแก้ไข” นั้น มีวิทยากรที่ร่วมบรรยายรวม 4 คน เริ่มจาก ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นสามารถทำได้ หากเข้าใจกลไกอันเป็นต้นตอของปัญหา กล่าวคือ ตัวบุคคล ระบบ และบริบทสังคม ทั้งหมดมีความเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งนี้ ต้องยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า “สันดานมนุษย์ซื้อได้ด้วยผลประโยชน์” ขอให้จ่ายในสัดส่วนที่มากพอ ก็สามารถจะซื้อคนๆ นั้นได้แล้ว วิธีการแก้ไขคือจะต้องสร้างระบบที่ทำให้ “คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว” โดยเฉพาะการสร้างแสงสว่างในที่มืดให้มากที่สุด ส่วนตัวเสนอให้ทุกภาคส่วน เปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่ไม่กระทบต่อปัญหาความมั่นคงของชาติอย่างแท้จริง เพราะหากทุกอย่างเปิดเผย โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้แล้ว เชื่อว่าปัญหาการปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะค่อยๆ ลดลงไปโดยปริยาย
ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส กล่าวว่า การจัดตั้งองค์กรตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น นับแต่ที่มี สตง., ต่อมาก็มี ป.ป.ป., ปปท., ดีเอสไอ และ ปปง. ทั้งหมดสะท้อนว่าปัญหาวิกฤติด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ยังคงเติบโตและขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง ในฐานะ “อดีตผู้ว่าการ สตง.” มีหลายคนถามตนว่า “ทำไม ตึก สตง.ถึงถล่ม!” คำตอบง่ายๆ คือ เพราะเป็น “ของหลวง” แต่หากเป็นตึกของภาคเอกชน ก็จะมีกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และขั้นตอนการก่อสร้างที่ดีพอ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตึกของเอกชนจึงไม่ถล่มพังลงมา ส่วนตัวเคยคิดว่าการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ยาก แต่หลังจากที่มีแอปพลิเคชั่น “Corruption Foundue” แล้ว เชื่อว่าปัญหานี้จะลดลงตามมา

ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตมงคล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้...การพูดว่าจะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เสมือนเป็นการพูดใส่กำแพง กล่าวคือ พูดให้ตัวเองได้ยิน แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย ที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีมีการโครงการก่อสร้างของภาครัฐรวมกันสูงมากถึง 1.7 ล้านล้านบาท และหากมีการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะจากโครงการแค่ 10-20% นั่นก็หมายความว่า ประเทศจะสูญเสียเงินไปราวๆ 1.7 - 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่สูงมาก เฉพาะหน่วยงานในสังกัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น พบว่า การทำหน้าที่ของ อบจ.ทั้ง 76 จังหวัด มีโครงการก่อสร้างถนนในพื้นที่ รวมกันมากถึง 3 แสนล้านบาท แต่กลายเป็นว่า 63% เป็นการซ่อมแซมถนนที่ชำรุดทรุดโทรม ซึ่งไม่ก่อประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่แต่อย่างใด มันสะท้อนว่าที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้ใส่ใจต่อการต่อต้านปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด แต่จากนี้ การมีเทคโนโลยี ฟ้องดู แม้จะช่วยให้การตรวจสอบทำได้ง่ายขึ้น แต่จำเป็นจะต้องสร้างความร่วมมือจากภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการ และสื่อมวลชน เพื่อให้เครือข่ายทุกภาคส่วนสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงข้อมูลและทำหน้าฟ้องประชาชนไปด้วย
ส่วน ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้คิดค้นแอปพลิเคชั่น “Traffy Foundue” ก่อนจะขยายผลและเชื่อมโยงไปสู่ แอปพลิเคชั่น “Corruption Foundue” กล่าวว่า แนวคิดของการแอปพลิเคชั่นแจ้งเบาะแสหรือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ ต้องทำ (ใช้งาน) ได้ง่าย และเห็นความก้าวหน้า ที่สำคัญผู้แจ้งเบาะแสจะต้องปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้กระบวนการทำงานในการตรวจสอบและป้องกันปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้รับการแจ้งเบาะแสและผ่านการตรวจสอบแล้ว จะถูกใช้และขยายผลเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป
จากนั้น ผู้นำองค์กรภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ, สมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย), สมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนนานาชาติ, มูลนิธิยุวไทยสากล และสมาคมธุรกิจค้าไม้ และสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ได้ร่วมประกาศจุดยืนและความร่วมมือในการปกป้องและปราบปรามการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง
ทั้งนี้ ดร. พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ เลขาธิการภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ ระบุว่า ภาคีเครือข่ายธรรมาภิบาลแห่งชาติ พร้อมจะเข้าร่วมเป็นภาคีต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของ สถาบัน FKII Thailand เพราะไม่ต้องการเห็นการเติบโตของปัญหาดังกล่าว นำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างสังคม “ธรรมภิบาล” ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ขณะที่ ดร.เอก์ เหลืองสอาด นายกสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ครั้งหนึ่ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี เคยกล่าวปาฐกถาในงานเสวนาของสมาคมฯ ถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นว่าเป็นเสมือน “การปล้นชาติ” จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่ “ต้นน้ำ” นั่นจึงเป็นที่มาทำให้ สมาคมฯมุ่งเน้นไปที่สร้างเครือข่ายเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ในระดับอุดมศึกษา โดยรวมมือกับมหวิทยาลัยต่างๆ กว่า 40 สถาบันทั่วประเทศ ซึ่งการเกิดขึ้นของ แอปพลิเคชั่น “Corruption Foundue” จะช่วยทำให้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง และทำให้การขับเคลื่อนเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเกาะป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อีกทางหนึ่ง
0 Comments